การอ่านรายงานการวิเคราะห์น้ำมันไฮดรอลิคใช้แล้ว (1)
การอ่านรายงานการวิเคราะห์น้ำมันไฮดรอลิคใช้แล้ว (1)
เมื่อได้รับรายงานการวิเคราะห์น้ำมันไฮดรอลิคใช้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำผลมาพิจารณาสิ่งที่ผู้รับผิดชอบเครื่องจักรจะต้องทำ แม้ว่าโดยปกติในรายงานการวิเคราะห์น้ำมันไฮดรอลิคใช้แล้ว จะมีผลการประเมินจากเจ้าหน้าที่ของห้องทดลอง ระบุเป็นสัญลักษณ์ตัวอักษรย่อและสี ที่ระบุถึงสภาพของตัวอย่างน้ำมันเบื้องต้น ได้แก่ N (Normal: สีเขียว), C (Caution: สีเหลือง) และ W (Warning: สีแดง) บนเอกสารอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้ใช้งานมีความรู้ ความเข้าใจ ก็จะสามารถอ่านผลการทดสอบอย่างละเอียด และนำไปพิจารณาสิ่งที่จะต้องทำ ตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของผู้ใช้งาน สถานที่ สภาวะการใช้งาน ให้สอดคล้องกับแผนการทำงานของแต่ละโรงงาน หรือพื้นที่ใช้งานน้ำมันหล่อลื่นอื่นๆ
อันดับแรกเมื่อได้รับรายงานการวิเคราะห์น้ำมันไฮดรอลิคใช้แล้ว จะต้องตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ว่าตรงกับที่ส่งไปหรือไม่ ได้แก่ ข้อมูลลูกค้า หรือเจ้าของเครื่องจักร ข้อมูลเครื่องจักรที่ทำการเก็บตัวอย่างน้ำมัน ข้อมูลน้ำมันตัวอย่าง เพื่อความถูกต้อง และเพื่อจำแนก ในกรณีที่ส่งหลายตัวอย่าง ทั้งจากแหล่งเดียวกัน และต่างกัน จากนั้นจึงพิจารณาข้อมูลเป็นส่วนๆ โดยจะเริ่มจากการทดสอบการสึกหรอ การทดสอบคุณภาพน้ำมัน การทดสอบการปนเปื้อน และการทดสอบปริมาณสารเพิ่มคุณภาพ เรียงตามลำดับความสำคัญที่มีผลต่อเครื่องจักร
การทดสอบการสึกหรอ คือการตรวจวัดปริมาณสารที่แขวนลอยอยู่ในเนื้อน้ำมันซึ่งไม่ได้อยู่ในน้ำมันก่อนที่จะมีการเติมลงในเครื่องจักร จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากการสึกหรอภายในส่วนต่างๆ ของเครื่องจักรที่น้ำมันไฮดรอลิคไหลผ่าน โดยในรายงาน ปริมาณอนุภาคเศษโลหะสึกหรอมีค่าเป็น PPM (Parts per Million: ส่วนในล้านส่วน) โดยสามารถตรวจสอบขนาดอนุภาคได้ 2 แบบ คือ
1.1 Fine Wear หรือ Rotating Disc Electrode (RDE) เป็นวิธีการวิเคราะห์หาปริมาณธาตุโลหะที่มีขนาดละเอียด ซึ่งมีขนาดโดยประมาณ เล็กกว่า 8 ไมครอน
1.2 Coarse Wear หรือ Rotating Filter Spectroscopy (RFS) เป็นวิธีการวิเคราะห์หาปริมาณธาตุโลหะที่มีขนาดหยาบ ซึ่งมีขนาดโดยประมาณ 5 – 150 ไมครอน
โดยโลหะต่างๆ ที่มีการทดสอบ จะสามารถพิจารณาได้ว่า มาจากส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องจักรได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อต่อไป